วิธีเก็บเงินเที่ยว

mindset-2

วิธีเก็บเงินเที่ยว

บางคนคิดว่าการเที่ยวมันเปลืองเงินบ้าง  แพงบ้าง  หาว่าบ้านรวยบ้าง อวดรวยบ้าง  แล้วทำไมเวลาซื้อโทรศัพท์ ซื้อเสื้อผ้า กินอาหารหรูๆ ไม่บอกว่าแพงบ้างล่ะคะ ไม่แน่นะ รวมๆกันอาจจะมากกว่าไปเที่ยวก็ได้

บางคนคิดว่าซื้อของใช้ มันได้จับต้อง เห็นเป็นตัวเป็นตน  แต่เที่ยวมันแว๊บเดียวก็หายไป  อย่าลืมนะคะว่าประสบการณ์สำคัญกว่าสิ่งของ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้เที่ยวจนหมดตัวนะคะ

บทความนี้จึงอยากเสนอไอเดีย วิธีเก็บเงินเที่ยว แบบสบายใจทุกฝ่าย ไม่เปลือง ไม่รู้สึกแพงแน่ๆค่ะ

แบ่งเงิน 80 – 10 – 10

แบ่งเงินเดือน/รายได้/กำไรสุทธิ ออกเป็นหลักๆ 3 กอง  กองแรก 80% เพื่อใช้ชีวิตประจำวัน   10% เพื่อการลงทุน  และ 10% สุดท้ายเพื่อท่องเที่ยว

ในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป๊ะขนาดนั้น แต่เพื่อจะได้จำง่ายๆก็ขอตั้งไว้แบบนี้นะคะ  ใครจะเพิ่มลดส่วนไหนก็ตามสะดวกค่ะ

เช่น เงินเดือน/รายได้/กำไรสุทธิ = 30,000 บาท

80% ของ 30,000 บาท ก็คือ 24,000 บาท  นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ค่ากิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบ้าน ค่ารถ ฯลฯ

10 % ของ 30,000 บาท  ก็คือ 3,000 บาท  นำไปลงทุนต่อ เช่น กองทุน หุ้น ปันผล ทอง ฯลฯ (ข้อนี้ต้องศึกษาให้ดีก่อนการลงทุนนะคะ ระหว่างเรียนรู้ก็เก็บออมไปก่อน หรือลงทุนที่ความเสี่ยงน้อยๆไปก่อน  แต่ถ้ายิ่งเรียนรู้มากก็ยิ่งได้ผลลัพธ์มากค่ะ)  เงินส่วนนี้อย่าได้นำมาใช้เด็ดขาดค่ะ

10% สุดท้าย ของ 30,000 บาท ก็คือ 3,000 บาท ให้นำไปท่องเที่ยวได้อย่างสบายใจค่ะ

ไม่ได้จำเป็นต้องใช้หมดทุกเดือน  เช่น ถ้าเราอยากไปต่างประเทศที่แพงๆ นั่นก็หมายความว่า ใน1ปี จะใช้ได้ไม่เกิน 36,000 บาท ซึ่งถ้าไปเที่ยวเองแบบประหยัดเป็น ก็สามารถไปได้หลายที่ หลายรอบเลยทีเดียว

 

จดบัญชีรายรับ-รายจ่าย

มาถึงตรงนี้ คีเวิร์ดแรกที่จะทำแผนนี้ได้สำเร็จนั่นก็คือ  คุณต้องจดบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้เป็นค่ะ  เหมือนจะไม่ยาก แต่ไม่ค่อยมีคนทำ คือมัน ต้องจดแบบละเอียดทุกบาททุกสตางค์เลยค่ะ


คำถาม

แล้วถ้ากองแรก 80% มันเหลือล่ะจะทำยังไง

  –> ก็ยิ่งดีสิคะ  เอาเงินที่เหลือไปใส่ช่อง 10% เพื่อการลงทุน   อย่าเอาไปใส่ช่องท่องเที่ยวนะคะ  แบบนี้ก็จะยิ่งทำให้คุณได้ท่องเที่ยวในระยะยาว และได้เร็วขึ้น เยอะขึ้นด้วย

 

แล้วถ้ากองแรกไม่เหลือล่ะ แถมยังจะไม่พอด้วยซ้ำ

  –> ก็ถึงบอกให้จดบัญชีไงคะ  เวลาคุณใช้จ่าย คุณไม่เคยรู้ตัวเลขที่แน่นอน ว่าคุณจ่ายไปเท่าไหร่  ถ้าคุณจดบัญชีคุณจะรู้ได้เองว่าคุณจะประหยัดอะไรได้บ้าง  อย่าเพิ่งแก้ปัญหานี้ด้วยการเร่งหาเพิ่มอย่างเดียว  เพราะมันจะทำให้คุณไม่มีเวลากลับมาพิจารณาตัวเอง

 

แล้วไอ้ส่วน 10% ที่นำไปลงทุนล่ะ  จะเก็บไปถึงเมื่อไหร่  เมื่อไหร่จะเอาออกมาใช้ได้

  –>  นำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อมันงอกเงย  แล้วคุณจะเก็บดอกผลจากมันได้ไม่เกิน 10% ด้วยนะ

เช่น เงินลงทุนทั้งหมด 100,000 บาท สมมุติว่ามันงอกเพิ่มมา 5% นั่นก็คือ 5,000 บาท  เราก็เอา 5,000 บาท เป็นตัวตั้ง แล้วเด็ด 10% ของ 5,000 บาท ออกมาใช้ นั่นก็คือ 500 บาท

วิธีนี้ดูเหมือนจะน้อยนะคะ แต่เราไม่ได้จำเป็นต้องทำแบบนี้ไปชั่วชีวิต ไม่งั้นก็ไม่ได้ใช้เงินที่อุตส่าห์เก็บมากันพอดี

 

แล้วเมื่อไหร่ถึงจะใช้เยอะขึ้นได้

 –>  ถึงตอนนั้นคุณจะตัดสินใจได้เองแน่ๆค่ะ เพราะคุณผ่านด่านหินมาซะขนาดนั้นแล้ว


 

เพิ่มรายรับ

คีย์เวิร์ดที่สองคือ การเพิ่มเงินเดือน/รายได้/กำไรสุทธิ (พวกนี้แอดมินไม่เกี่ยว) แต่อย่าลืมว่ามันมีวิธีเพิ่มอีกอย่างก็คือ การเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน

จากที่ข้างต้นบอกว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนคือ 5%  เราสามารถเพิ่มเป็น10% หรือมากกว่านั้น  ก็จะทำให้ตัวเลขผลลัพธ์เพิ่มขึ้นเท่าตัว (เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่น ตั้งใจ และการใฝ่หาความรู้ของคุณเองค่ะ)

 

จะเห็นว่า การประหยัด ไม่ได้ประหยัดแบบไม่มีเป้าหมาย เราประหยัดก็เพื่อนำมาลงทุนต่อ ให้ได้ดอกผลที่มากขึ้น  ดอกผลจะมากขึ้นได้ ก็เพราะมีลำต้นโตขึ้น(เงินต้นมากขึ้น)


 

ยกตัวอย่างนะ

เงินเดือน 15,000

เด็กวัยรุ่นจบใหม่ เงินเดือน 15,000 บาท  ต่อให้ใช้จ่าย 80%เลย = 12,000 บาท/ด.   เก็บ 10% = 1,500 บาท/ด.  เที่ยว 10% = 1,500 บาท/ด.

5 ปีผ่านไป

เด็กคนนี้จะมีเงินเก็บ 90,000 บาท  (สมมุติว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีรายได้เสริมอะไรเลย และเงินเดือนก็ไม่ได้ขึ้นด้วย)  แล้วระหว่างที่เก็บเงินนี้ เด็กคนนี้ก็ค่อยๆเรียนรู้เรื่องการลงทุน  มีความมั่นใจ พร้อมลงทุนแล้ว

ขึ้นปีที่ 6

เด็กคนนี้ได้รับเงินเดือนขึ้นเป็น 20,000 บาท  สมมุติว่าเขาทำเหมือนเดิม  ใช้จ่าย 80% = 16,000 บาท/ด.   เก็บ 10% = 2,000 บาท   เที่ยว 10% = 2,000 บาท

อย่าลืมว่าเด็กคนนี้มีเงินเก็บ 90,000 บาทด้วยนะ  แล้วเขาก็พร้อมนำเงินไปลงทุนแล้วด้วย  ผลตอบแทนสมมุติว่าได้ 5%/ปี = 4,500 บาท  (นี่ยังไม่ได้เอาไอ้ที่เขาเก็บเพิ่มแต่ละเดือน มาเพิ่มในกองลงทุนนี้ด้วยนะคะ)

5 ปีผ่านไป

เด็กคนนี้ก็จะมีเงินเก็บใหม่ 120,000 บาท   +  ผลตอบแทน5% ที่ได้จากเงินลงทุนเดิม 90,000 บาท x 5ปี = 22,500 บาท (นี่คิดในกรณีที่ไม่ได้ทบต้นทบดอกนะคะ ในความเป็นจริงมันต้องมากกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่ขอคิดอย่างน้อยไว้ก่อน)

แปลว่า 10 ปี นับจากเรียนจบ เด็กคนนี้จะมีเงินเก็บ 90,000 + 22,500 +120,000 = 232,500 บาท  (เป็นอย่างน้อย)

ในระหว่าง 10 ปีที่ผ่านมา เด็กคนนี้ไม่ได้อดเที่ยวเลย  และใช้เงินซื้อของจำเป็นในชีวิตได้ตามปกติ  แถมยังมีเงินเก็บด้วย

ขึ้นปีที่ 11

เด็กคนนี้(อายุประมาณ 32 ไม่เด็กแล้วสิ) มีเงินเดือน/รายได้ เพิ่มขึ้นเป็น 30,000 บาท  สมมุติว่าเขาก็ยังทำเหมือนเดิม ใช้จ่าย 80% = 24,000 บาท/ด.   เก็บ 10% = 3,000 บาท/ด.   เที่ยว 10% = 3,000 บาท/ด.

แล้วก็มีเงินเก็บรวม 232,500 บาท  เขาก็นำไปลงทุนต่อ  สมมุติว่าได้ผลตอบแทนแค่ 5% = 11,625 บาท/ปี  (ซึ่งในความเป็นจริงน่าจะได้มากกว่านี้  ถ้าพยายามศึกษาหาข้อมูล ฝึกฝน เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนอยู่ตลอดเวลา อาจเป็น 10% หรือ 15% ก็ได้)

5 ปีผ่านไป

เขาจะมีเงินเก็บใหม่  180,000 บาท + ผลตอบแทน 5% ที่ได้จากเงินลงทุนเดิม 232,000 บาท x 5ปี = 58,125 บาท (เงินที่งอกออกมาเองโดยที่เราไม่ได้ใช้แรงงาน)

จริงๆแล้วนี่เป็นการคำนวนแบบรวบรัด ทีละ 5 ปี โดยไม่มีการเพิ่มเงินต้นเลย ใน 5 ปีนั้น  ซึ่งจริงๆเราสามารถเพิ่มได้ทุกปีอยู่แล้ว  นี่คิดแบบอย่างน้อยๆที่สุดแล้วนะคะ  ในความเป็นจริงอาจได้มากกว่านี้ 2-3 เท่าด้วยซ้ำค่ะ

ลองกลับไปคำนวนของตัวเองดูสิคะ   วิธีแบบนี้จะทำให้ไปเที่ยวได้แบบไม่กลับมากังวลเรื่องเงิน  ระหว่างที่ยังมีไม่เยอะก็ยังไปเที่ยวได้ แต่ใช้งบไม่เกินตัว    พออายุมากขึ้นก็จะไปเที่ยวได้อย่างสบายใจ  แถมเที่ยวได้มากขึ้นด้วยค่ะ


 

มีคนบอกว่า อายุมากขึ้น ต้องมีลูก ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ต้องรับผิดชอบอะไรมากขึ้น แผนแบบนี้มันเป็นไปไม่ได้หรอก แค่ค่าใช้จ่ายก็แทบจะไม่พอแล้ว

 –> เรื่องนี้ถ้าคุณทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย จริงๆ ทำจนเป็นนิสัยแล้ว คุณจะรู้วิธีแก้แน่นอนค่ะ  ไม่มีใครช่วยคุณได้ ในเมื่อคุณเลือกที่จะมีภาระเพิ่มเอง (ยกเว้นภาระที่ไม่ได้ก่อเองนะ)

 

อายุมากขึ้น เที่ยวไม่ไหวแล้ว วัยรุ่นมีแรงก็เที่ยวไปก่อน

–> เรื่องนี้ก็แล้วแต่คนจะชอบนะคะ   แต่ถ้าคุณอายุมากขึ้นใจจริงก็อยากไปเที่ยวแหละ แต่ด้วยความไม่มีเงิน ก็เลยหลอกตัวเองว่าไม่อยากไป  ไปไม่ไหว แบบนี้จะดีหรอคะ    และนี่แหละคือเป้าหมายหนึ่งนั่นก็คือ การดูแลสุขภาพ ฟิตร่างกายให้พร้อมตลอดเวลาแม้ว่าจะอายุมากขึ้นก็ตาม

สำหรับวัยรุ่นที่มีไฟเที่ยวเต็มเปี่ยม ก็เห็นด้วยค่ะว่าควรจะออกเที่ยว  แต่ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วล่ะค่ะ ว่าจะแบ่งเงินเที่ยวอย่างไร  จะอดเปรี้ยวไว้กินหวาน(แต่ระหว่างรอก็ไม่ได้อดนะ แต่ไม่จุใจ)  หรือจะยอมกินขมๆเปรี้ยวๆ(แต่จุกเลย)


 

สรุป

  1. จดบัญชีรายรับ-รายจ่าย  เพื่อรู้อุดรอยรั่ว และรู้สถานการณ์
  2. วางแผนการเงิน  ประหยัด เก็บออม
  3. เรียนรู้เรื่องการลงทุน และลงทุน  (อย่าลืมจดบัญชีเรื่องการลงทุนด้วยนะคะ)
  4.  แบ่งเงินสำหรับการเที่ยวให้ชัดเจน  อย่าเบียดเบียนเงินกองอื่น

 


ตอน1 ทำไมเห็นคนอื่นไปเที่ยวได้บ่อยจัง

 

ตอน2 ออกแบบการเที่ยวของตัวเอง

 

ตอน3 วิธีเก็บเงินเที่ยวแบบยั่งยืน

ติดตามบทความใหม่ได้ที่ facebook.com/gonoguide

สวัสดีค่ะ GoNoGuide มีเป้าหมายที่จะให้ข้อมูลท่องเที่ยวและวีซ่า อย่างเต็มที่ในทุกเรื่องที่เรารู้ เพื่อนๆที่ต้องการสนับสนุนเรา สามารถทำได้ดังนี้

  • เลือกบริการที่ต้องการสนับสนุนเรา
  • GoNoGuide จะได้รับค่าคอมมิชชั่นเล็กๆน้อยๆ โดยที่เพื่อนๆไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม สำหรับลิงค์แนะนำโรงแรม เครื่องบิน และประกันต่างๆ
  • กดติดตามช่อง Youtube และ Facebook GoNoGuide

ขอขอบคุณที่สละเวลาอ่านค่ะ


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.